การให้บริการล่ามภาษามือ

 
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.)แจ้งว่าระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งออกตามมาตรา ๒๐ (๗) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒  ได้กำหนดให้คนพิการทางการได้ยินที่มีความประสงค์ขอรับบริการล่ามภาษามือ สามารถยื่นขอบริการล่ามภาษามือในกรณีต่างๆ ได้แก่ การใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การสมัครงานหรือการติดต่อด้านการประกอบอาชีพ  การร้องทุกข์ การกล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น การจัดประชุมสัมมนา หรือการฝึกอบรม รวมทั้งเป็นผู้บรรยายโดยหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเอกชน \"\"
 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.) ได้มีมติในที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ครั้งที่ ๕ /๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓  เห็นชอบกรณีการจัดประชุมสัมมนา หรือการฝึกอบรม ของหน่วยงานราชการ หากมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนพิการทางการได้ยินเข้าร่วมประชุมด้วย ให้หน่วยงานนั้นรับผิดชอบในการจัดหาล่ามภาษามือและจ่ายค่าตอบแทนล่ามภาษามือในการประชุมดังกล่าว ตามอัตราที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการแห่งชาติประกาศกำหนดโดยขอความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง  ซึ่งหน่วยงานที่จัดการประชุมสัมมนา หรือการฝึกอบรม  ให้ตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทนล่ามภาษามือสำหรับการประชุมในครั้งนั้นๆ  ทั้งนี้ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อขอบริการล่ามภาษามือ ได้ที่หน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ   สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย  ส่วนต่างจังหวัดสามารถติดต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือหน่วยบริการในพื้นที่ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด  พร้อมกันนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือ จำนวน ๓๓๗ ราย พร้อมภาพถ่ายและสถานที่ติดต่อล่ามภาษามือ   \"\"