เนื่องจากวันนี้เป็นวันพืชมงคล "เก็บตกริมทาง" ของเราขอหยิบเอาเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับวันพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมาฝากกัน
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือว่ามีความสำคัญต่อพี่น้องเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก เพราะพิธีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร และเพื่อเป็นการบำรุงขวัญของเกษตรกรไทย โดยพระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ และมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์ แต่ทั้งสองพิธีก็มีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน และได้จัดเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมา รวมเรียกว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"
พระราชพธีพืชมงคล เริ่มต้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฎในหนังสือ พระราชพิธีเดือนสิบสองว่า
"การพระราชพิธีจรดพระนังคัล แต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหาก เรียกว่า พืชมงคล…"
ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสามัญว่า "พิธีแรกนาขวัญ" สันนิษฐานว่า เป็นพิธีที่อาจจะมีมาก่อนกรุงสุโขทัย แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอจะอ้างอิงได้ แต่พระราชพิธีนี้ได้ถูกกล่าวไว้ในหนังสือนางนพมาศ ซึ่งเป็นหนังสือครั้งกรุงสุโขทัย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือว่าเป็นพิธีที่สำคัญมาก เพราะมีตราไว้ในกฎมณเฑียรบาล ให้ถือเป็นพระราชพิธีที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำในเดือน 6 ของทุกปี ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีพืชมงคล ถือเป็นพิธีสงฆ์จะทำพิธีที่ท้องสนามหลวง และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะทำที่ทุ่งส้มป่อย นอกพระนคร แต่พิธีทั้งสองนี้ให้ทำในวัน และเวลาเดียวกัน
ในช่วง พ.ศ. 2479-2502 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถูกระงับลงพักหนึ่ง เนื่องจากอยู่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่พิธีพืชมงคลยังถือปฏิบัติอยู่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2503 และโปรดให้กระทำทั้งสองเป็นพระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตามโบราณราชประเพณี และให้เป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนพิธีกรรมที่จะมีขึ้นในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้น จะเริ่มตั้งแต่ เวลา 16.30 น. ของวันพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธรูปสำคัญ 4 องค์ คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์ถวายศีล ทรงรับศีลแล้วเสด็จไปที่ธรรมาสน์ศิลา ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ พระพุทธคันธารราษฎร์ แล้วทรงประพรมพืชต่างๆ ที่จะนำไปโปรยหว่านในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่ทางราชการจะแจกจ่ายไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อนำไปผสมกับพืชพันธุ์ที่จะใช้เพาะปลูกทั่วไป
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญ สำหรับพระราชพิธีเกี่ยวกับการเกษตรกรรม ทรงกราบและทรงอธิษฐาน แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์เดิม หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล จบแล้วพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระยาแรกนาเข้าไปหมอบเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม และพระราชทานเจิมตามลำดับ ระหว่างนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แล้วเสด็จมาประทับ ณ พระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทกพระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วออกจากพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ส่วนพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะเริ่มขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พลับพลาที่ประทับ ณ ท้องสนามหลวง
สำหรับชุดที่พระยาแรกนาสวมนั้น จะมีสนับเพลาปลายขอบปักดิ้นทอง ถุงเท้าขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำ ไม่ผูกเชือก นุ่งผ้าเยียรบับ ชายพกพับจีบ ไม่จีบโจงใช้เชือกสายแถบรัดเอว สวมเสื้อเยียรบับพื้นเขียวลายทองแขนยาวแบบข้าราชการ กระดุม 5 เม็ด สวมสายสะพาย และประดับราชอิสริยาภรณ์ คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทองรัดเอวนอกเสื้อ สวมเสื้อครุยผ้าโปร่งปักดิ้นทอง แล้วกลัดดวงตราปักอักษรย่อ จจจ. เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ด้านเทพีจะนุ่งผ้าเยียรบับจับหน้านาง หรือ ผ้าไหมไทยทอดอก ลายสีทอง สวมเสื้อไหมไทยรัดรูปแขนยาว คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะเป็นเกลียวเกี่ยวขัดสีทอง ห่มผ้าสไบปักทองแล่ง ประดับอาภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานสวมถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าหนังหุ้มส้นสีทองปลายงอน
เมื่อพร้อมแล้ว พระยาแรกนา และเทพีจะจุดธูปเทียนนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นจึงไปบิดร ถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร แล้วจึงไปทำพิธีที่ท้องสนามหลวง
หลังจากที่ตั้งขบวนอิสริยยศตามแบบประเพณีโบราณรับพระยาแรกนาแล้ว พระยาแรกนาจะสวมลอมพอกเดินเข้าประจำในขบวน พร้อมด้วยคู่เคียง 2 ข้างๆ ละ 8 นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพี จัดเป็นรูปขบวนไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ประโคมกลองชนะสังข์ แตร ตลอดทาง
เมื่อเข้าสู่โรงพิธีพราหมณ์ หัวหน้าพราหมณ์เชิญพระยาแรกนาไปที่แท่นเบญจามณฑลพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม พระพิฆเนศ พระโคอุสุภราช แล้วไปนั่งพัก ณ เก้าอี้ที่จัดพร้อมด้วยเทพีและผู้เชิญเครื่องยศ หัวหน้า พราหมณ์เข้าไปหลั่งน้ำสังข์ที่มือ และให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง 4 แล้วพระยาแรกนาทำการเสี่ยงผ้านุ่งตามพิธีพราหมณ์
ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีพอดี ข้าวหล้าในนาจะได้ผลสมบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
หลังจากนั้นพระยาแรกนาจะตั้งขบวนเพื่อเข้าสู่ลานแรกนา มีราชบัณฑิต 1 เชิญพระเต้าเทวบิฐบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ มีพราหมณ์เป่าสังข์ 1 คู่ พราหมณ์เชิญพระโคอุสุภราช 1 คน มีกรรชิงหน้า 1 คู่ กระบุงเงิน 1 คู่ บรรจุข้าวเปลือก จากนั้นจึงมารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์
เข้าสู่ลานแรกนา พระยาแรกนาเจิมคันไถและเจิมพระโค 2 ตัวที่เทียมแอก ได้มงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงบูชาพระฤกษ์ และลั่นฆ้องรับ เจ้าพนักงานพิธีย่ำมโหระทึกประโคมแตรฝรั่ง ปี่พาทย์ ทำเพลงพร้อมกัน พระยาแรกนาจับคันไถมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือพระแสงปฏัก บัณฑิตถือพระเจ้าเทวบิฐสาดพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงในพื้นดินนำ พราหมณ์เชิญเทวรูปพระโคอุสุภราชและพระพลเทพเดินนำหน้าพระโค พระยาแรกนาไถดะ 3 รอบ
โดยขวาง 3 รอบ ส่งพระแสงปฏักให้หัวหน้าพราหมณ์ถือไว้ พระยาแรกนาหยิบพันธุ์ข้าวเปลือกในกระบุงทอง กระบุงเงิน ที่เทพีหาบตาม หว่านลงในนาจนครบ 3 รอบ และไถกลบ 3 รอบ เมื่อครบแต่ละรอบโหรลั่นฆ้องรับ เจ้าพนักงานประโคมแตรงอน แตรฝรั่ง ส่วนปี่พาทย์ และมโหระทึกบรรเลงและย่ำพร้อมกันตลอดเวลา
เมื่อหว่านกลบแล้ว พระยาแรกนารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์ กลับเข้าสู่โรงพิธีพราหมณ์ พร้อมด้วยเทพีราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐและพราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพ พระโคอุสุภราชไปตั้งแท่นเบญจาตามเดิม พนักงานจูงพระโคทั้งคู่ไปยืนที่ขอบลานแรกนาเพื่อเสี่ยงทายของ 7 สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ และหญ้า พระโคกินอะไร พราหมณ์ผู้ถือถาดอาหารจะแจ้งแก่โหรหลวงเพื่อพยากรณ์ แล้วให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กราบบังคมทูลถึงผ้านุ่งเสี่ยงทาย และการเสี่ยงทายพระโค
เสร็จพระราชพิธีทั้งหมด แล้วเหล่าพี่น้องเกษตรกรก็จะเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ที่พระยาแรกนาหว่านเอาไว้ เพื่อเก็บไปเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก ส่วนบางคนก็เก็บเอาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล แถมยังเชื่อว่า จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ของตนงอกงามอีกด้วย
และนี่ก็เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเก็บรวบรวมมาฝากกันค่ะ