เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : ความรู้เกี่ยวกับ IT
หัวข้อเรื่อง : วิกฤติฝุ่นควัน PM2.5 : วิกฤติฝุ่นกลืนเมือง

พฤหัสบดี ที่ 9 เดือน เมษายน พ.ศ.2563

คะแนน vote : 5  

 วิกฤติฝุ่นควัน PM2.5 : วิกฤติฝุ่นกลืนเมือง

 

ทุกวันนี้เวลาเดินไปที่ไหน จะถนนใหญ่ หรือเล็ก หรือกระทั่งไปตามตรอกซอกซอย แม้จะมีหลากเรื่องหลายราวให้พูดคุย แต่ต้องมีเรื่องหนึ่งแน่ๆที่กำลังพูดถึงกันลั่นสนั่นเมืองด้วย ซึ่งเรื่องนี้นอกจากเอามาพูดกันปากต่อปากแล้ว เหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ตลอดจนพรรคการเมืองต่างๆ พากันนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้กันถ้วนหน้า ผลจากเรื่องนี้ก็ทำให้การค้าการขายหน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูกคึกคักกันไปด้วย แถมด้วยในโซเชียลทั้งหลาย เช่น Facebook หรือ Instragram ก็เป็นที่แสดงของหน้ากากอนามัยหลากสีหลายแนว ฯลฯ เพราะความที่เรื่องนี้มันไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจที่จะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง เท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพอนามัยของคนที่รัก และของตัวเอง...เรื่องนั้นก็คือ เรื่องของ ฝุ่นควัน PM2.5 นั่นเอง

ถ้าได้ลองสังเกตกันดีๆ ทุกๆเช้าในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ก็จะเริ่มมีการถ่ายรูปภาพของตัวเมืองที่เต็มไปด้วยหมอกสีเทาๆปกคลุม นำมาแชร์กันในโลกของโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงแรกๆก็คิดกันว่าไม่มีปัญาหาอะไรอาจจะเป็นแค่หมอกยามเช้าธรรมดา หรือต่อให้เป็นหมอกควันก็คงเป็นเพียงปรากฎการณ์ชั่วครั้งชั่วคราว แต่สุดท้ายเมื่อปรากฎการณ์นี้ไม่เพียงแต่จะไม่ชั่วคราว และดูความหนาแน่นก็ดูจะมีมากขึ้นทุกทีๆ ก็มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญออกมาส่งเสียงกันมากขึ้นเรื่อยๆว่า สิ่งนี้ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพตอนนี้มัน ไม่ใช่ เพียงแค่หมอกธรรมดา แต่เป็นหมอกของกลุ่มอนุภาคที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ หรือที่เรียกกันว่า ฝุ่นควัน PM2.5

หลังจากนั้นกระแสความหวาดกลัว และความตื่นตัวในเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ก็เพิ่มสูงขึ้นในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะที่อยู่ในเขตเมืองอย่างรวดเร็ว และไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานคร เท่านั้น ยังรวมถึงต่างจังหวัดอีกด้วย เพราะหมอก PM2.5 ได้ปกคลุมแทบจะทั่วทุกภาคส่วนในประเทศไทยเลยทีเดียว

รูปภาพดัดแปลงจาก https://www.epa.gov/pm-pollution/particulate-matter-pm-basics
เปรียบเทียบขนาดของ PM2.5 PM10 กับเส้นผมมนุษย์ และเม็ดทรายละเอียด

 

ซึ่งกระแสความตื่นตัวนี้ สังเกตได้ชัดเจนจากการที่หน้ากากปิดปากปิดจมูกชนิดที่เรียกว่า N95 ต่างขาดหายไปจากตลาดไม่ว่าจะเป็นในร้านค้าขายปลีก อย่าง 7-11 หรือ ร้านค้าออนไลน์ ต่างๆภายในเวลาอันรวดเร็ว และภายในเวลาไม่นาน แต่ละร้านค้าก็ต้องรีบหาหน้ากาก N95 มาวางแผงขายกันใหม่ และดูเหมือนว่าจะต้องมีในสต๊อคเอาไว้ในทุกร้านค้าไม่ให้ขาดจนดูเหมือนว่าเป็นสินค้าอีกหนึ่งอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างอะไรกับ อาหาร น้ำ หรือ ยาสามัญประจำบ้าน เลยทีเดียว

จริงๆแล้วปัญหาฝุ่นพิษนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดมาในช่วงนี้เท่านั้น เพราะตั้งแต่ในช่วงปลายปี พ.ศ.2539 ต่อกับต้นปี พ.ศ. 2540 ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ก็แสดงให้เห็นว่า ในกรุงเทพมหานครมีหลายจุดที่ปริมาณของทั้ง PM10 และ PM2.5 ที่อยู่ในระดับที่เกินกว่ามาตรฐาน อาทิเช่น เขตห้วยขวาง เขตวงเวียนใหญ่ เขตบางนา และเขตพญาไท ฯลฯ และมีค่าสูงถึง 80-120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว (ข้อมูล: กรมควบคุมมลพิษ http://www.pcd.go.th/)

อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นกระแสที่ตระหนักถึงภัยของ PM ก็อาจจะยังไม่มากนัก อาจจะเนื่องจากระยะเวลาที่ฝุ่นพิษแพร่กระจาย เป็นเฉพาะช่วงสั้นๆ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีไม่มาก ต่างจากปัจจุบันที่มีสื่อจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะการมีสื่อโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารก็ไปได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็วเป็นอย่างมาก ทำให้ระดับของการตระหนักถึงพิษภัยของฝุ่นพิษ PM2.5 ของประชาชนจึงอยู่ในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

ทำความรู้จักกับฝุ่นควัน PM2.

จากเวบไซต์ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้ให้ความหมายของ PM ไว้ดังต่อไปนี้ (https://www.epa.gov/pm-pollution )

PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matter โดยมีความหมายถึงว่า เป็นของผสม (Mixture) ของอนุภาคของแข็ง (Solid particle) และหยดของเหลว (Liquid droplet) ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในอากาศในรูปของ ฝุ่น (Dust) ผงละออง (Dirt) เขม่า (Soot) รวมทั้ง ควัน (Smoke) ทั้งที่มีความหนาแน่นมากจนเห็นเป็นกลุ่มสีเทา หรือสีดำ ได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจจะต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้เกิดความง่าย และเข้าใจตรงกัน ในที่นี้จะใช้คำว่า ฝุ่นพิษ PM2.5

ปกติแล้ว ฝุ่นควัน PM อาจจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ PM10  คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาด 10 ไมครอน หรือเล็กกว่า และ PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาด 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่า

 

แหล่งที่มาของ ฝุ่น PM2.5ให้ฝุ่นพิษเกิดการสะสม และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย

แม้ว่าฝุ่น PM ตามนิยามของ EPA อาจจะมีได้ทั้งขนาด 2.5 และ 10 ไมครอนก็ตาม แต่ในที่นี้เพราะเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในประเทศไทย ดังนั้นในที่นี้จะเน้นเฉพาะแหล่งที่มาของฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นหลัก เท่านั้น

โดยทั่วๆไปแล้วแหล่งของ ฝุ่นพิษ PM2.5 แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ มาจากการปล่อยออกสู่บรรยากาศโดยตรง กับโดยทางอ้อม

โดยทางตรง ฝุ่นพิษ PM2.5 อาจจะได้จากการคมนาคมขนส่ง (ประมาณ 10%) การเผาในโรงผลิตกระแสไฟฟ้า และ/หรือโรงงานอุตสาหกรรม (ประมาณ 30%) และการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาหญ้า หรือขยะ ฯลฯ (ประมาณ 50%) ส่วน โดยทางอ้อม ฝุ่นพิษ PM2.5 มาจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในบรรยากาศโดยมีสารประกอบจำพวกออกไซด์ของซัลเฟอร์ และออกไซด์ของไนโตรเจนต่างๆ และแน่นอนว่าฝุ่นพิษจากแหล่งโดยทางอ้อมมักจะมีปริมาณ มีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าแหล่งโดยตรง ซึ่งบรรดาสารพัดออกไซด์เหล่านั้นมักถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน เป็นหลัก

นอกจากนี้แล้วสภาพอากาศที่มีความชื้น ไม่ค่อยมีลมพัด และอากาศที่หนาวเย็น ก็อาจจะมีส่วนเสริมเติมเต็มที่จะทำให้ฝุ่นพิษเกิดการสะสม และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย

 

ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ในอากาศ

นอกจากการแชร์ภาพถ่ายฝุ่นควัน หรือการสวมหน้ากากอนามัย N95 กันแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่นิยมแชร์กันคือ ค่าตัวเลขปริมาณของ PM2.5 ทั้งที่เป็นข้อมูลทางการ หรือข้อมูลที่ได้จากแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งเพื่อให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆในที่นี้จึงนำเสนอถึงนิยาม และความหมายของค่าตัวเลขมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5

ปัจจุบันนี้ สำหรับอากาศที่ปลอดภัยจากการกำหนดของ US EPA นั้น จะต้องมีค่า PM2.5 อยู่ที่ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นรายปี ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยความเข้มข้น 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร https://www.epa.gov/pm-pollution/particulate-matter-pm-basics)

เหตุที่ต้องมีค่ามาตรฐานทั้ง 2 ค่า (คือค่ารายปี และราย 24 ชั่วโมง) นั้นก็เนื่องจาก อันตรายจากฝุ่นควันPM2.5 ไม่ได้มีความเฉียบพลันเช่นเดียวกันกับแก๊สบางชนิดเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) หรือไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังกันในราย 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้การติดตามค่าของ PM2.5 จึงมักเฝ้าระวังในราย 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน PM2.5 ก็ยังจัดว่ามลพิษที่ก่ออันตรายหรือโรคเรื้อรัง หากรับเข้าสู่ร่างกายสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงต้องกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยระยะยาว 1 ปีควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในลักษณะเรื้อรัง (chronic effect) นั่นเอง

สำหรับประเทศไทยนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 23 (พ.ศ.2553) กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยความเข้มข้น 24 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยความเข้มข้นรายปีของ PM 2.5 ไม่เกิน 50 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า มาตรฐานของประเทศไทยยังมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่มาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะได้มีการปรับลดค่ามาตรฐานของ PM 2.5 ในอากาศเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และลดผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

อันตรายของฝุ่นควัน PM2.5

ผลกระทบของฝุ่นควัน PM2.5 เอาแบบที่เห็นผลชัดเจนที่สุดคงแบ่งออกเป็น ผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบโดยอ้อม

โดยทั่วไปแล้ว อันตรายของฝุ่นพิษ PM นี้แปรผันแบบผกผันตามขนาดของฝุ่นพิษ กล่าวคือ ยิ่งขนาดของฝุ่นเล็กเท่าใดก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้กับสุขภาพเท่านั้น เพราะร่างกายของมนุษย์เราสามารถ กรอง” ฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบหายใจถ้าฝุ่นนั้นมีขนาดตั้งแต่ 10 ไมครอนขึ้นไป

แต่ถ้าขนาดของฝุ่น PM เล็กลงกว่า 10 ไมครอนลงมา ฝุ่น PM ก็จะสามารถผ่านเข้าสู่ปอด ได้ หรือถ้าเล็กมากๆก็มีโอกาสที่ PM อาจจะเข้าสู่ระบบกระแสเลือดได้ด้วยซ้ำ! (ลองหลับตานึกภาพว่า เม็ดเลือดแดงของมนุษย์มีขนาด 5 ไมครอน ซึ่งใหญ่กว่า PM2.5 ถึง 2 เท่า)

ผลกระทบในเบื้องต้นของ PM2.5 ที่มีต่อสุขภาพก็อาจจะได้แก่ การสร้างความระคายเคืองในระบบหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการจาม การไอ มีเสมหะ น้ำมูกไหล

แต่ถ้า PM2.5  นั้น มีอนุภาคของสารเคมีเป็นส่วนประกอบ เช่น ออกไซด์ของซัลเฟอร์ หรือไนโตรเจน นอกจากจะทำให้เกิดการระคายเคืองแล้ว (ถ้าสูดดมในปริมาณมากๆในระยะเวลาสั้น หรือสูดดมในปริมาณน้อยในระยะเวลานาน) ก็จะทำให้ระบบหายใจเกิดการระคายเคืองจนเกิดการอักเสบ เป็นแผลในระบบหายใจ

Q: หน้ากากอนามัยแบบใดที่เหมาะสมสำหรับป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 ?

A: หน้ากากอนามัยที่วางขายในท้องตลาดทุกวันนี้ ไม่ใช่ทุกชนิดที่สามารถใช้ป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 โดยทั่วไปแล้วหน้ากากอนามัยที่มีความเหมาะสมที่สุดในการป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 คือ หน้ากากอนามัยชนิด N95 เนื่องจากสามารถในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึง 0.1-0.3 ไมครอน และมีประสิทธิภาพในการกรองถึง 95% เป็นอย่างน้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมี 2 แบบที่วางขายในท้องตลาดคือ แบบที่มีวาล์วเปิดปิด ซึ่งจะทำให้หายใจได้สะดวกกว่า และแบบที่ไม่มีวาล์วเปิดปิดซึ่งมีราคาถูกกว่า
 

ชนิดไม่มีวาล์วเปิดปิด

ชนิดไม่มีวาล์วเปิดปิด

 

แนวทางการแก้ไข และการป้องกันฝุ่นควัน PM2.5

ปัจจุบันเป็นเวลาตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน ที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ (05 กุมภาพันธ์ 2562) สภาวะฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังคงอยู่ในสภาวะที่รุนแรงอยู่ จนกระทั่งหน่วยงานราชการในภาครัฐต่างพากันออกมาตรการในการลดปัญหานี้กันอย่างเร่งรีบ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน อาทิเช่น กระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศให้สถานศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทุกแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 งดการเรียนการสอนของโรงเรียนระดับประถม และมัธยม ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - 1 ก.พ (https://www.bbc.com/thai/thailand-47052896) หรือ การสั่งการให้มีการทำฝนเทียมเพื่อให้มีฝนตกในบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (https://www.thairath.co.th/content/1469289) ตลอดจนความร่วมมือของภาคเอกชน เช่น มีการฉีดน้ำจากบนตึกสูงของเอกชน อาทิเช่น ตึก ใบหยก ตึก ปตท และอาคารสูงของตึกคอนโดมิเนียมต่างๆ (https://workpointnews.com/2019/01/31/เอกชน-ลุกช่วยลดฝุ่นpm-2-5-ฉีด/) ฯลฯ เป็นต้น ตลอดจนยังพยายามในการเสนอแนวทางต่างๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย หรือระเบียบในการควบคุมปริมาณรถยนต์ การตรวจสอบควันดำจากรถขนส่งสาธารณะต่างๆ (https://news.thaipbs.or.th/content/277367) รวมทั้งการเข้าตรวจสอบ โรงงานต่างๆที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการปล่อยฝุ่นควัน รวมทั้งการหยุดการทำงาน(operation)ของโรงงาน https://thestandard.co/stop-600-factory-pm-25-dust-reduction/) ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐ และเอกชนแล้วก็ตาม แต่ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังไม่ค่อยจะได้ผลเท่าที่ควร เพราะในวันที่เขียนบทความนี้ (05 กุมภาพันธ์ 2562) ระดับฝุ่นควันก็ยังคงอยู่ในระดับที่เกินกว่ามาตรฐาน (https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/97845) ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่ในฐานะประชาชนที่จะต้องหาวิธีการป้องกันตนเองจากฝุ่นควัน PM2.5

ข้อแนะนำ และวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ PM2.5 เบื้องต้น

1.  การลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือถ้าจำเป็นก็ควรใช้ร่วมกันหลายคนต่อยานพาหนะส่วนตัวคันเดียว

2.  หลีกเลี่ยง หรือ งด การเผาไหม้ขยะในที่แจ้ง รวมทั้งการเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม เผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้

3.  ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด

4.  ออกกำลังกายในที่ร่ม ฝุ่นน้อยๆ และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย

5.  รับประทานอาหารเสริม อาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินอีสูง เช่น ถั่ว ปลา(มีโอเมก้า 3 มาก)

6.  ใส่หน้ากากอนามัยที่สามาถป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 ได้ (หรือชนิดที่เรียกว่า N95) ทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจ หรือโรคหัวใจเรื้อรัง

ทั้งหมดนี้ก็มีวัตถุประสงค์หลักคือ ให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทัน และป้องกันตัวเองจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้อ่านไม่ตื่นตระหนกกันอย่างเกินกว่าเหตุ และใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไป

 



เข้าชม : 992


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      วิกฤติฝุ่นควัน PM2.5 : วิกฤติฝุ่นกลืนเมือง 9 / เม.ย. / 2563
      การพัฒนา Koratsite 31 / ต.ค. / 2553
      มันสามารถเขียนทับไฟล์ที่ลึกกว่า root ได้อีกด้วย 20 / เม.ย. / 2551
      ตามล่าหาไฟล์ .dll ที่หายไป 3 / ก.พ. / 2551
      เมื่อท่านมีผลงานของตนเอง 31 / ม.ค. / 2551