การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง (ศศช.)
เมื่อปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้นโดยส่งครูอาสา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน ในชุมชนและมีการสร้างอาคารขนาดเล็กเรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืนและสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวัน มุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ ซึ่งโครงการศศช.นี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2537 ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายเปิดตามชุมชนทุรกันดารถึง 773 แห่ง
เมื่อ พ.ศ. 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ และทรงพบจดหมายของครูอาสาสมัคร คนหนึ่ง ที่ ศศช.บ้านใหม่ห้วยหวาย จ.แม่ฮ่องสอน บรรยายความยากลำบากในการเป็นครูดอยในถิ่นกันดาร และขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของ เครื่องใช้ในอาศรม ศศช.พระองค์ทรงมีความสนพระทัยที่จะพระราชทานความช่วยเหลือ จึงมอบหมายให้นายบุญธันว์ มหาวรรณ หน.คณะทำงานส่วนพระองค์ ไปสำรวจหาข้อมูล เพื่อให้ความช่วยเหลือ จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ และต่อมาได้พระราชทานความช่วยเหลือ และทรงรับ ศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์
ในปี พ.ศ. 2539 กรม กศน.ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” หรือ “สมเด็จย่า” แต่ชื่อย่อยังใช้ติดของเก่าว่า ศศช.เหมือนเดิม .
การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงหรือเดิมเรียกว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อ ชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)หรือจะพูดง่ายๆ และพูดจนติดปากว่า “การศึกษาชาวเขา”ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดงานที่ดำเนินการก็คือ การให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์และหลายเชื้อชาติ วิธีการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ไม่แตกต่างจากการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นราบ แต่ถ้าพูดถึงกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งด้านหลักการ เป้าหมายและกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันบ้างเพราะชุมชนบนพื้นที่สูงมีความแตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน เช่น ความแตกต่างทางด้านภูมิประเทศ ความแตกต่าง ในวิถีชีวิต ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างทางด้านความพร้อม ในการสื่อสารและการคมนาคมดังนั้น เป้าหมาย (goal) ของการจัดการศึกษา สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง จึงเป็นไปตามหลักการและกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยอาศัยความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาโยมีรายละเอียดทั้งหลักการ เป้าหมายและกระบวนการเรียนรู้
หลักการ
1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม 2. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน 3. เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
รายละเอียดของหลักการเป้าหมายและวิธีการของการจัดการศึกษา ศศช. จากหลักการจัดการศึกษา ศศช. ที่ได้กำหนดไว้ 3 ประการ คือ
1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตแบะสังคมซึ่งหมายถึงเป็นการ จัดการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถได้เรียนรู้ จากวิธีการ ดำรงชีวิตที่เป็นปกติประจำวันในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอน การเจ็บป่วย การทำงานการพักผ่อน การสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ ฯลฯ 2. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน หมายถึง การจัดการศึกษาที่สนองความต้องการของทุกคนในชุมชน สามารถแสวงหาทางเลือกและโอกาสที่จะเรียนรู้เท่าที่เวลาและโอกาสที่แต่ละคนจะสามารถเรียนรู้ 3. เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การเรียนรู้ที่อาศัยวิธีการทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาาศัย อันเกิดจากแรงจูงในที่จะเรียนรู้ตลอดช่วงอายุของคนหนึ่งซึ่งต้องเรียนรู้ทึกอย่างที่เดี่ยวกับการดำรงชีวิตซึ่งต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสามารถปรับตัวและดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม
เป้าหมาย
1. เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน 2. ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง 3. เกิดการพัฒนาทักษะพื้นฐานมองเห็นช่องทางที่จะเรียนรู้ต่อ ๆ ไปได้ 4. สามารถจัดการด้านสภาพแวดล้อมและทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม 5. ชุมชนอยู่ในสภาพแห่งสังคมการเรียนรู้ 6. เป็นพลเมืองดีของชาติ 7. สามารถธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนชาวเผ่า
กระบวนการจัดการเรียนรู้ถือเป็นหัวใจการดำเนินงานของ ศศช. อันเป็นบทบาทหน้าที่หรือภารกิจของครูโดยตรง ซึ่งเป็นภารกิจหลัก นอกจากนี้จะต้องอาศัยภารกิจรองในอันที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้การเรียนรู้ไป สู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากกระบวนการหรือวิธีการจัดการเรียนตามหลักการของ ศศช.เป็นหลักการหรือ แนวทางที่สามารถให้ผู้เรียนไปสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนาทั้ง 7 ประการ
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) จัดตั้งอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงที่มีพื้นที่ทุรกันดาร ดำเนินการให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนรูปแบบ “อาศรม”
ศศช. มีครู กศน. ที่เรียกว่า ครู ศศช. ปฏิบัติหน้าที่ลักษณะประจำ แห่งละ 1-2 คน โดยครูจะทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อชีวิตและสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ศศช. จึงเป็นศูนย์บริการทางการศึกษาของชุมชน โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน และจัดการศึกษา ให้ทุกคนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ศศช. มีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
1. ด้านกายภาพ ประกอบด้วย อาคารศูนย์การเรียน เป็นอาคารเอนกประสงค์ เป็นทั้งห้องสมุด ห้องเรียน และที่พักครู มีความมั่นคง แข็งแรง เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรม บริเวณภูมิทัศน์ภายนอก ร่มรื่น สวยงาม เป็นระเบียบ จัดมุมต่างๆ ภายใน ภายนอกอย่างเหมาะสม มีลานกิจกรรม/สนามเด็กเล่น มีแปลงพืชผักสวนครัวและโรงเรือน เลี้ยงสัตว์
2. ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ศศช. จะเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยบริการสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีวัสดุ-อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมเพียงพอ และมีรูปแบบการจัดกิจกรรมน่าสนใจ หลากหลาย ขอบข่ายในการให้บริการมีดังนี้
1. เตรียมความพร้อมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน 2. ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ 3. จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่วัยแรงงาน 5. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต 6. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน 7. จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
3. ด้านบุคลากร ครู ศศช. ผู้ทำหน้าที่จัดการศึกษาประจำที่ ศศช. ต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์และศรัทธาในการเป็นครู มีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรม มีทักษะในการจัดการเรียนการสอน และการผลิตสื่อการเรียน การสอน มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรับผิดชอบดำเนินงาน ดังนี้
1. สำรวจข้อมูลหมู่บ้าน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 2. เป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้บริการทางการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายอย่าง เหมาะสมกับสภาพและข้อจำกัดของผู้เรียน ดังนี้
2.1 จัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนก่อนวัยเรียน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.2 จัดการเรียนรู้ให้กับผู้ไม่รู้หนังสือ 2.3 จัดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาอาชีพให้กับผู้สนใจในชุมชน โดยการสำรวจปัญหา/ความต้องการในชุมชน 2.4 จัดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต โดยการจัดทำโครงการต่างๆ ให้ความรู้กับชุมชน เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม/ประชาธิปไตย
3. ประสานงานกับผู้นำชุมชน เครือข่าย ท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรม 4. ร่วมประชุมกับชุมชน 5. แนะนำ ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แก่ชุมชน
4. ด้านการบริหารจัดการ การบริหารงาน ศศช. เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ประสานงาน ช่วยเหลือ มีแผนการปฏิบัติงานประจำปีและประจำเดือน โดยกำหนดให้ครูส่งแผน/ผลการปฏิบัติงานประจำเดือนทุกเดือน ให้ ศศช. มีคณะกรรมการศูนย์การเรียนฯ มีคณะกรรมการหมู่บ้าน และมีคณะกรรมการจัดทำอาหารกลางวันให้ผู้เรียน และกำหนดให้มีการสรุปและรายงานผลการปฏิบัติงานและกิจกรรมไตรมาสละ 1 ครั้ง มีการตรวจสอบการทำงานโดยครูนิเทศ และมีการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
5. ด้านการบริการชุมชน ครู ศศช. ต้องส่งเสริมชุมชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านอนุรักษ์ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม ด้านการดูแลที่อยู่อาศัย ด้านการดูแลสุขภาพอนามัย และต้องให้บริการการศึกษาแก่ประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึง ชุมชน (หมู่บ้าน) ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละชุมชน เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรม และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีผู้นำและกรรมการ ศศช. เป็นผู้ประสานงาน ให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ ส่งเสริม สนับสนุน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้รับบริการ โดยมีการกำหนด ดังนี้
1) ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนา ศศช. 2) ชุมชนมีการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) ชุมชนมีจิตสำนึกการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมชนเผ่า 4) ชุมชนตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพ อนามัยของครอบครัว และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน 5) มีการกำหนดกฎ กติกา ข้อบังคับของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา
สำหรับการส่งเสริม และสนับสนุน ศศช. เพื่อให้มีการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย จึงมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งในระดับพื้นที่ และส่วนกลาง ให้การสนับสนุน และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยสามารถแสดงให้เห็นตามรูปแบบดังนี้
สำนักงาน กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) มีบทบาท ดังนี้
1) กำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงาน 2) และจัดกลุ่มงานรับผิดชอบงานตามพระราชดำริฯ 3) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน 4) กำหนดแนวปฏิบัติงาน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานให้บรรลุผล 5) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา ศศช.ต้นแบบ เพื่อกำหนดกระบวนทัศน์การทำงานในภาพรวมระดับชาติ และเป็นที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ 6) พิจารณากลั่นกรองรายละเอียดโครงการและงบประมาณประจำปี ตามที่สำนักงาน กศน.จังหวัด เสนอขอรับการสนับสนุน
สถาบัน กศน. ภาคเหนือ (สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ) มีบทบาท ดังนี้
1) ศึกษา วิจัย และพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายพื้นที่สูง 2) พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น 3) ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรครู และผู้รับบริการให้มีศักยภาพในการดำเนินงานในภาพรวมของภาค 4) สนับสนุนระบบข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานบนพื้นที่สูง 5) ประชาสัมพันธ์ ข่าวสาร เพื่อขยายผลการดำเนินงาน ศศช.ต้นแบบในภาพรวมของภาค
สำนักงาน กศน.จังหวัด (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด) มีบทบาท ดังนี้
1) ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมวางแผนการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ 2) จัดหาบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ กศน.อำเภอ 3) พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนางาน ศศช. ให้ กศน.อำเภอที่มีพื้นที่ ศศช.ต้นแบบ 4) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานใน ศศช.ต้นแบบ ในภาพรวมของจังหวัด 5) สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่จำเป็น และตามความต้องการของ ศศช.ต้นแบบ 6) กำกับ ติดตาม ดูแลการดำเนินงานของศูนย์ กศน.อำเภอ ที่มี ศศช.ต้นแบบ ให้เป็นไปตามนโยบาย 7) ประเมินผลการปฏิบัติงานในภาพรวมของจังหวัด 8) แก้ไข ปรับปรุงการดำเนินงานในภาพรวมของจังหวัด 9) รายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงาน กศน.
กศน. อำเภอ (ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ) ที่มี ศศช. มีบทบาทหน้าที่ดังนี้
1) กำหนดแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บท 2) ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับ ศศช.ต้นแบบอย่างเหมาะสม 3) ดำเนินงานตามแผนที่กำหนด 4) กำกับดูแล จัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูในกำกับ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 5) กำกับดูแล ครูนิเทศก์ ครู ศศช. ให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ 6) ดำเนินการนิเทศ ติดตาม ตรวจเยี่ยม งานในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง 7) อบรมให้ความรู้ ให้คำแนะนำ การพัฒนางาน/กิจกรรม แก่ครูนิเทศก์ และครู ศศช. 8) ประเมินผลการดำเนินงาน ปรับปรุง ประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่ปีละ 2 ครั้ง 9) รายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงาน กศน.จังหวัดทราบ
กลุ่มบ้าน เป็นกลุ่มการดำเนินงานเพื่อพัฒนา ศศช. ให้มีความสามารถในการเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยมีครูนิเทศก์เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการหมุนเวียนศึกษาดูงาน เรียนรู้และถ่ายทอดจาก ศศช.ต้นแบบ และร่วมกันประเมินผล ซึ่ง ครูนิเทศก์ จะมีบทบาทหน้าที่ ดังนี้
1. บทบาทหน้าที่ด้านวิชาการ
1.1 พัฒนาเนื้อหาและรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ 1.2 นิเทศ ติดตามการใช้หลักสูตร สื่อ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รูปแบบการจัดกิจกรรม โครงการต่างๆ ของครูประจำ ศศช. 1.3 เป็นที่ปรึกษา ร่วมแก้ปัญหาและให้คำแนะนำในการจัดการศึกษาแก่ครูประจำ ศศช. 1.4 ร่วมประเมินผลการเรียน และการจบหลักสูตรของผู้เรียน 1.5 ร่วมประเมินและปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของ ศศช. 1.6 ติดตาม ประเมินผลและพัฒนาการดำเนินงานของ ศศช. 1.7 ร่วมพัฒนาคุณภาพของครู ศศช. เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. บทบาทหน้าที่ด้านการจัดการ
2.1 จัดทำบันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน 2.2 จัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำเดือน/ปี 2.3 ให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการของครูประจำ ศศช. และรวบรวมแผนการดำเนินงานโครงการของครูส่งผู้บริหารสถานศึกษา 2.4 ให้ข้อเสนอแนะในการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนของครู ศศช. และนำส่งผู้บริหารสถานศึกษา 2.5 สำรวจความต้องการการใช้วัสดุอุปกรณ์ของ ศศช. และนำเสนอผู้บริหารสถานสถานศึกษา เพื่อขอรับการสนับสนุน 2.6 ตรวจสอบหลักฐานการศึกษาผู้จบหลักสูตร นำเสนอผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อขออนุมัติ โดยทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน (ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนเมษายนและเดือนตุลาคม) 2.7 ดูแลการจัดทำเอกสารทางราชการของครู ศศช. ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ 2.8 รายงานผลการจัดกิจกรรมต่อผู้บริหารสถานศึกษา
3. บทบาทหน้าที่ด้านการประสานงาน
3.1 ประสานงานกับสถานศึกษา หน่วยงาน องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3.2 เป็นสื่อกลางในการติดต่อ ให้ข้อมูลข่าวสารระหว่างครู ศศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.3 จัดประชุมครูร่วมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันพัฒนาการการจัดการศึกษาให้ชุมชนอย่างมีคุณภาพ
ที่มา เว็บไซต์ กศน.อำเภออมก๋อย |