ดำเนินการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับและการเทียบระดับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2546 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดสถานศึกษาให้ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2548
1. หลักการประเมินเทียบระดับการศึกษา การประเมินเทียบระดับการศึกษา เป็นการประเมินมวลประสบการณ์และความรู้ที่เป็นองค์รวมของบุคคล ให้ครอบคลุมคุณลักษณะที่สำคัญ ทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ระดับการศึกษาที่สอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตร โดยใช้หลักการประเมินเพื่อการยอมรับความรู้และประสบการณ์ที่มีมาก่อน (Recognition of Prior Learning Assessment)
2. ขอบข่ายการประเมินเทียบระดับการศึกษา การประเมินเทียบระดับการศึกษาเป็นการประเมินแบบองค์รวม ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา องค์ความรู้และคุณธรรมมากกว่าการประเมินความรู้ตามสาระการเรียนรู้ ดังนั้น การประเมินเทียบระดับการศึกษาจึงมีขอบข่ายการประเมิน 4 องค์ประกอบ คือ 2.1 ความรู้พื้นฐาน เป็นความรู้ทางด้านวิชาสามัญ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จากสื่อ และแหล่งวิทยาการต่าง ๆ ต่อไป เช่น ทักษะภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนความรู้ที่เป็นฐานความรู้ ของเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งความรู้พื้นฐานเหล่านี้ต้องเป็นความรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร และสอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตของบุคคลที่จะมาขอเทียบระดับการศึกษา 2.2 ความรู้และทักษะด้านพัฒนาอาชีพ เป็นความรู้ความสามารถและทักษะด้านการงานอาชีพ ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการงานอาชีพ มีการพัฒนากระบวนการการทำงาน หรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ในการวางแผน การเลือกใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ดำเนินงานและพัฒนาการงานอาชีพ ไปสู่เป้าหมายได้อย่างสมเหตุสมผล รวมทั้งการมีคุณธรรม จริยธรรมในการงานอาชีพ 2.3 ความรู้และทักษะด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นความรู้ความสามารถที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของชีวิต ครอบครัว มีทักษะในการดำเนินชีวิต การมีสุนทรียภาพ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีทักษะในการเสริมสร้างสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ตลอดจนยึดหลักธรรมตามศาสนาที่ตนนับถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต 2.4 ความรู้และทักษะด้านพัฒนาสังคมและชุมชน เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับสังคมรอบ ๆ ตัวและทักษะในการนำความรู้ความสามารถที่มีมาใช้ในการดำเนินชีวิต ครอบครัว ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง อบอุ่น ตลอดจนนำศักยภาพของตนเองมาช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม ทั้งด้านอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งส่งเสริมให้สังคมและชุมชนมีความกระตือรือร้นในการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง
3. การจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้ระดับการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน พัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ ทั้ง 4 ด้าน พร้อมตัวบ่งชี้ที่สอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตร พร้อมทั้งจัดทำกรอบเครื่องมือการประเมินเทียบระดับการศึกษา สถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษาจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และหลักสูตรของสถานศึกษา
4. การจัดทำเครื่องมือประเมินเทียบระดับการศึกษา สถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา เป็นผู้จัดทำเครื่องมือประเมินเทียบระดับการศึกษา ตามมาตรฐานการเรียนรู้ระดับการศึกษา และกรอบเครื่องมือที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด รวมทั้งจัดทำเครื่องมือประเมินที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มเติม โดยจัดทำเครื่องมือประเมินที่หลากหลาย เช่น แฟ้มสะสมงาน การเสนอผลงาน การจัดทำโครงงาน การสัมภาษณ์ การทดสอบ เป็นต้น การประเมินเทียบระดับการศึกษา ใช้เครื่องมือประเมินหลายประเภทประกอบกัน เพื่อให้สามารถประเมินได้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ระดับการศึกษาที่กำหนด สามารถวัดความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ของผู้ขอประเมินได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ การประเมินอาจต้องใช้ระยะเวลาประเมินพอสมควร ในระยะเริ่มแรกนี้ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เป็นผู้พัฒนาเครื่องมือประเมินเทียบระดับการศึกษาให้บริการแก่สถานศึกษาไปก่อน
5. วิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษา วิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษา ใช้วิธีการประเมินหลากหลายวิธีประกอบกัน ตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ และเพื่อให้สามารถตรวจสอบและสืบค้นข้อมูลความรู้ ความสามารถของผู้เข้าประเมินได้อย่างแท้จริง โดยใช้การสัมภาษณ์ การปฏิบัติจริง การทดสอบ การตรวจสอบหลักฐาน และพิจารณาวิธีการประเมินให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าประเมินที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ มีภารกิจการประกอบอาชีพ ดังนั้น การประเมินที่หลากหลายโดยใช้วิธีดังกล่าว จึงต้องใช้เวลาการประเมินมากพอสมควร การประเมินเทียบระดับการศึกษา ใช้วิธีการประเมินแบบปรนัยและอัตนัยประกอบกัน ในการประเมินแบบปรนัยวิธีการตรวจให้คะแนนมีความชัดเจน การประเมินสามารถดำเนินการโดยเทคโนโลยีได้ แต่การประเมินจากการปฏิบัติจริง การสัมภาษณ์ การตรวจสอบหลักฐาน มีความเป็นอัตนัย ในการประเมินจึงต้องดำเนินการในรูปคณะกรรมการ คณะกรรมการตามกฎกระทรวงกำหนดว่าจะต้องเป็นผู้มีความรู้และ ประสบการณ์ในสาขาวิชาของการศึกษาแต่ละระดับ ทั้งนี้เพื่อให้การประเมินเป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้
6. การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน กฎกระทรวงกำหนดให้ดำเนินการประเมินเทียบระดับการศึกษา โดยคณะกรรมการซึ่งสถานศึกษาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินเทียบระดับการศึกษา จำนวนไม่เกินห้าคน ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชาของการศึกษาระดับนั้น จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน และผู้มีความรและประสบการณ์ ด้านการวัดและประเมินผล จำนวนหนึ่งคน ดำเนินการประเมินเทียบระดับการศึกษา คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน และให้หัวหน้าสถานศึกษาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษานั้นจำนวนหนึ่งคนเป็นเลขานุการ คณะกรรมการประเมินเทียบระดับการศึกษาของสถานศึกษา อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมาย การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินเทียบระดับการศึกษาของสถานศึกษา ให้หัวหน้าสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษาเป็นผู้แต่งตั้ง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้ประธานคณะกรรมการประเมินเทียบระดับการศึกษาของสถานศึกษาเป็นผู้แต่งตั้ง
7. การตัดสินผลการประเมินและการออกหลักฐานการประเมินเทียบระดับการศึกษา การประเมินเทียบระดับการศึกษา จะให้ผลการประเมินเป็นผ่าน โดยมีเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้ 7.1 ผลการประเมินแต่ละด้านจะต้องได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงจะถือว่าผ่านการประเมินในด้านนั้น 7.2 มีผลการประเมินผ่านครบทั้ง 4 ด้าน 7.3 เข้าร่วมกิจกรรมค่าย สำหรับผู้ที่เข้ารับการประเมินแล้ว ผ่านเกณฑ์ประเมินไม่ครบทุกองค์ประกอบ หรือผ่านเพียงบางองค์ประกอบ ผู้เข้ารับการประเมินสามารถเก็บสะสมผลการประเมินที่ผ่านไว้ได้ไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่สถานศึกษาอนุมัติผลการประเมินเทียบระดับการศึกษาตามคำร้องขอเทียบระดับการศึกษาครั้งแรก
8. การอนุมัติผลการประเมินเทียบระดับการศึกษา หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้อนุมัติผลการประเมินเทียบระดับการศึกษา โดยพิจารณาจากผลการประเมินและการเข้าร่วมกิจกรรมค่าย
9. การออกหลักฐานการประเมินเทียบระดับการศึกษา 9.1 หนังสือรับรองผลการประเมินเทียบระดับการศึกษา 9.2 ประกาศนียบัตร
|